เปิด 3 เหตุผล ศบค.ต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อีก 1 เดือน จากวันที่ 1 มิถุนายนถึง 30 มิถุนายน 2563 ศบค.ย้ำ ต้องการความมีเอกภาพ รวดเร็ว มีความต่อเนื่อง มีประสิทธิภาพ และมีมาตรฐานกลางในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ยืนยันเพื่อความมั่นคงด้านสาธารณสุข

23 พ.ค. 63 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. ได้เปิดเผย 3 เหตุผล ศบค.ต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อีก 1 เดือน จากวันที่ 1 มิถุนายนถึง 30 มิถุนายน 2563 ยืนยันเพื่อความมั่นคงด้านสาธารณสุข สิ่งเหล่านี้เราก็ทำเพื่อทุกๆ ท่าน ทุกท่านก็ทำเพื่อญาติของท่านเองเพื่อคนที่ท่านรักเอง ที่สุดแล้วเราก็ทำเพื่อประเทศไทย เราถึงประสบความสำเร็จกันมาถึงตอนนี้ การประกาศภาวะฉุกเฉินเป็นเครื่องมืออันหนึ่งเท่านั้น โดยเหตุผล 3 ข้อที่ทาง นพ.ทวีศิลป์ ได้ระบุไว้คือ


1. ยังคงมีความจำเป็นและต้องมีการบังคับใช้ พ.ร.ก.นี้ เพราะต้องการความมีเอกภาพ รวดเร็ว มีความต่อเนื่อง มีประสิทธิภาพ และมีมาตรฐานกลางในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ กฎหมายทั้งหมดที่เกี่ยวโยงกันกับ เรื่องการควบคุมโรค ไม่ใช่แค่ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาใช้แล้วได้ผล ไม่เพียงพอต้องมีการประกอบกฎหมายอีก 40 ฉบับ มาอยู่ภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งเชื่อมโยงถึงการเดินทางเข้ามาจากต่างประเทศ การเคลื่อนย้าย ยานพาหนะ อากาศยาน การตรวจคนเข้าเมือง จิปาถะอีกมากมาย 40 กฎหมายต้องเป็นเอกภาพ และรวดเร็วนั่นคือความสำคัญ
2. เป็นการเตรียมรองรับมาตรกรผ่อนคลายในระยะที่ 3 และ 4 เพราะประเทศไทยอยู่ในระหว่างการผ่อนคลายมาตรการระยะที่ 2 ต่อไปคือระยะที่ 3 และระยะที่ 4 เมื่อเทียบกับระยะที่ 1 และระยะที่ 2 คือมีความเสี่ยงเรื่องสาธารณสุขที่สูงกว่า เสี่ยงติดเชื้อสูงกว่า จะบอกว่ากิจการ กิจกรรม ที่มีความเสี่ยงสูงแต่ตัวกำกับจะหย่อนลงนั้นลำบาก เพราะเดิมตัวกำกับที่ดีความเสี่ยงต่ำ ยังเอาอยู่ได้แต่ถ้าตัวกำกับนี้ หย่อนลงไปจะให้ยกเลิก พ.ร.ก.นี้ลงไปแต่ปรากฎว่าพฤติกรรมความเสี่ยงสูงกลับมา สิ่งนี้ไม่สมดุลกันไม่ได้ ดังนั้นต้องสร้างความสมดุลนี้ให้เกิดขึ้น จึงจำเป็นต้องมีมาตรตามกฎหมาย เพื่อกำกับบริหารจัดการ ให้เป็นไปตามมาตรการผ่อนคลายตามที่กำหนดให้เหมาะสม
3. สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ยังไม่สิ้นสุด โดยมีข้อมูลว่า หลายประเทศยังคงมีการระบาดและมีจำนวนผู้ติดเชื้อในระดับสูง และเมื่อประเทศไทยได้จัดทำมาตรการผ่อนคลายครบทั้ง 4 ระยะแล้ว จำเป็นจะต้องมีระยะเวลาเพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดประเทศ อาทิ มาตการด้านกฎหมาย แผนปฏิบัติการในการบริหารวิกฤติการเพื่อรองรับความเสี่ยงที่อาจจะกลับมาแพร่ระบาดของโรค ถ้าไม่มีกฎหมายควบคุมโรคอาจไหลจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศเรา โรคติดต่อไม่มีพรมแดน ซึ่งความร่วมมือของประชาชนร่วมกับระบบการจัดการของภาครัฐ ต้องเหมาะสมกัน


"หลายคนบอกว่ายกเลิกเถอะ พอแล้ว ประเด็นก็คือเราอยากจะเข้าสู่ระยะที่ 3 ถึงตอนนั้นถ้าไม่มีพ.ร.ก. จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าเราจะเอาระยะที่ 4 ถ้าไม่มี พ.ร.ก. จะเกิดอะไรขึ้น นี่คือสิ่งที่ผมคงต้องถามย้อนกลับไปยังพี่น้องประชาชนว่าตอนนี้เรามีความมั่นใจทุกเรื่อง ถึงแม้ว่ามีพ.ร.ก. ไม่ได้หมายความว่าเป็นที่สุด แต่ว่าก็เป็นเครื่องไม้เครื่องมือที่ทำให้เรามีน้ำหนึ่งในเดียวกันและทุกๆ ท่านก็เข้าใจว่าเราทำไปเพื่ออะไร สิ่งเหล่านี้เราก็ทำเพื่อทุกๆ ท่าน ทุกท่านก็ทำเพื่อญาติของท่านเองเพื่อคนที่ท่านรักเอง ที่สุดแล้วเราก็ทำเพื่อประเทศไทย เราถึงประสบความสำเร็จกันมาถึงตอนนี้ การประกาศภาวะฉุกเฉินเป็นเครื่องมืออันหนึ่งเท่านั้น แต่ไม่ใช่ทั้งหมด" นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. กล่าว
ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก Workpoint